จากภาระหนี้สินมากมาย ทั้งค่าครองชีพที่สูงรวมถึงสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ทำให้หลายคนเจอปัญหาคล้ายๆกันคือ “เงินเดือนไม่พอใช้” โดยสังเกตจากการระบายความเครียดตาม Social เป็นแคปชั่นต่างๆ เช่น
“เงินเดือนยังคงที่ แต่หนี้ยังคงเพิ่ม”
“สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ”
“ศุกร์หรรษามานั่งกินมาม่าประชดเงินเดือน”
“เงินเดือนเหมือนคนไม่มีใจ…อยู่ๆก็ไป…ไม่บอกลากันสักคำ”
ระหว่างที่นั่งดราม่าเราลองหันมาปฏิวัติตัวเองด้วยการวางแผนจัดการเงินเดือนให้รอดจากสภาพเงินเดือนติดลบหรือเดือนชนเดือน และทำให้มีเงินเหลือเก็บไว้ออมเพื่ออนาคตกันดีกว่า
“ลด ละ เลิก พฤติกรรมสิ้นเปลือง”
งดจากพฤติกรรมที่ชอบใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นโดยเฉพาะช่วงเงินเดือนออกหลายคนจะแสวงหาความสุขจากการอดกลั้นมาทั้งเดือน ดังนั้นชาวมนุษย์เงินเดือนจะใช้จ่ายอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะกิน เที่ยว หรือช้อป กระทั่งรู้ตัวอีกทีเงินในกระเป๋าหายไปครึ่งนึงขอรายได้แล้ว ทั้งที่ยังมีรายจ่ายที่จำเป็นรออยู่และยังต้องกินต้องใช้ให้รอดอย่างไรจนถึงสิ้นเดือน ฉะนั้นควรคิดก่อนว่าสิ่งใดจำเป็นควรซื้อหรือไม่อย่างสมเหตุสมผล
“วางแผนการเงินทั้งเดือน”
เราควรสังเกตพฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเอง เพื่อทบทวนแล้วเขียนออกมาเป็นรายการ จากนั้นให้พิจารณาความจำเป็นของแต่ละรายการว่าสิ่งไหนจำเป็น และหากสิ่งไหนไม่จำเป็นให้ตัดรายการนั้นออกไปก่อน เมื่อสรุปรายการใช้จ่ายที่จำเป็นได้แล้วให้เราแบ่งสรรปันส่วนออกมาเป็นหมวดหมู่ เช่น เรามีรายได้ที่สรุปรับต่อเดือนจำนวน 17,000.- บาท/เดือน ให้แบ่งหมวดค่าใช้จ่ายตามนี้
- ค่าใช้จ่ายประจำ ( 8,500.- บาท/เดือน)
- ค่าบ้าน
- ค่าน้ำ
- ค่าไฟ
- ค่าใช้จ่ายต่อเดือน (5,500.- บาท/เดือน)
- ค่าข้าว
- ค่าน้ำมัน
- ค่าโทรศัพท์
- อื่นๆ
- ค่าฝากเก็บหรือเงินสำหรับออม (3,000.- บาท/เดือน)
เมื่อเรารู้จักการจัดการกับเงินเดือนแล้ว ย่อมทำให้เรารู้ว่าเงินที่เหลือสำหรับไว้ใช้จ่ายต่อเดือนนั้นเหลือเท่าไหร่ และทำให้การใช้จ่ายของเรามีความรอบคอบขึ้น หากจะดีกว่านี้เราควรจดบันทึกการใช้เงินในแต่ละวันว่ามีการจ่ายหมดไปกับสิ่งใดราคาเท่าไหร่บ้าง ซึ่งจะทำให้เราสามารถทราบถึงที่มาที่ไปของการใช้จ่าย ทั้งยังช่วยในการรู้จักควบคุมการใช้เงินของตัวเองได้
หากท่านสามารถกระทำตามที่แนะนำในเบื้องต้นได้ รับรองว่าท่านจะไม่ต้องนั่งกลุ้มกับปัญหาเงินเดือนไม่พอใช้ แล้วต้องดิ้นรนหาแหล่งเงินกู้เพื่อเป็นหนี้สินจนการเงินติดลบ ตรงกันข้ามหากรู้จักถึงการจัดการกับรายได้จะสามารถทำให้เราสร้างพฤติกรรมให้รู้วิธีบริหารการเงินที่ดีและยังทำให้เรามีเงินไว้สำหรับเก็บออมเพื่ออนาคตได้อีกด้วย